วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

ภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น


        1.การฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองสมัยรัตนโกสินทร์ให้เทียบเท่ากรุงศรีอยุธยา รัชกาลที่ 1-3 ทรงมีพระราโชบายที่จะสร้างกรุงเทพฯ ราชธานีแห่งใหม่ให้ใหญ่โตสวยงามเช่นเดียวกับกรุงเก่า เพื่อธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง
1.1การสร้างพระราชวังและวัดวาอารามได้ยึดถือตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาใช้แผนผังพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก
1.2ประเพณีการสร้างวัดในเขตพระบรมมหาราชวัง คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำนองเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ที่กรุงศรีฯ ใช้ประกอบพระราชพิธีทางศาสนา โดยไม่มีพระสงฆ์ จำพรรษา



        2.การฟื้นฟูพระราชพิธีต่างๆที่เคยมีมาในสมัยอยุธยา ที่สำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระราชพิธีพืชมงคล พระราชพิธีตรียังปวาย (โล้ชิงช้า) และพระราชพิธีวิสาขบูชา เป็นต้น

        3.งานสถาปัตยกรรม มีความเจริญรุ่งเรืองสวยงามประณีตเสมอกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ 
3.1พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
3.2วัดประจำองค์พระมหากษัตริย์ ได้แก่ วัดพระเชตุพนฯ (รัชกาลที่ 1) วัดอรุณราชวราราม (รัชกาลที่ 2) และวัดราชโอรสฯ(รัชกาลที่ 3)
        4.งานศิลปกรรมแขนงอื่นๆ เป็นผลงานของ”ช่างสิบหมู่” เช่น เครื่องราชูปโภคขององค์พระมหากษัตริย์ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ราชรถ ตู้พระไตรปิฏกลายรดน้ำ และเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ ฯลฯ

        5.งานจิตกรรม งานจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงเลียนแบบสมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากภาพวาดในพระอุโบสถหรือพระวิหารของวัดวาอารามต่างๆ ซึ่งมักเป็นภาพเทพชุมนุม ภาพพุทธประวัติ หรือ ทศชาติชาดก เป็นต้น 
5.1 งานจิตกรรมมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 มีผลงานปรากฏอยู่มาก แต่จะมีอิทธิพลของศิลปะจีนแทรกเข้ามา เนื่องจากมีการค้าขายติดต่อกับจีนตลอดรัชกาล
5.2 จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ 3 คือ หลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) และ คงแป๊ะ (ครูคง) มีผลงานปรากฎที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศน์เทพวรารามปละวัดบางยี่ขัน

        6. นาฏศิลป์และดนตรีไทย มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 2 เพราะ ทรงเป็นกวีและศิลปิน จึงทรงพระทัยให้การทะนุบำรุงอย่างจริงจัง

        7. งานส่งเสริมวรรรณกรรม ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราชสำนักมีฐานะเป็นศูนย์กลางชุมนุมวรรณกรรมและกวี มีทั้งองค์พระมหากษัตริย์ เจ้านาย และกวีสามัญชน เช่น รัชกาลที่ 2 และสุนทรภู่ เป็นต้น ซึ่งมีผลงานทั้งบทละคร เสภา นิราศ กาพย์ และกลอน

         บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น


 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงมีพระนามเดิมว่า  "ด้วง"  หรือ  "ทองด้วง"  เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279  เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร  กรมขุนพรพินิต  ต่อมาได้เข้ารับราชการในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ  ตำแหน่งหลวงยกกระบัตรประจำเมืองราชบุรี  และปฏิบัติราชการที่เมืองราชบุรีจนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310  ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตามสินมหาราช  หลวงยกกระบัตรได้รับราชการอย่างแข็งขันและมีพระปรีชาสามารถโดยเฉพาะด้านการสงคราม
          พระราชกรณียกิจสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้
                    1.  ด้านการเมืองการปกครอง  
                              1.1)  ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีและกรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นราชธานีแห่งใหม่  โดยทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
                              1.2)  โปรดเกล้า ฯ ให้ชำระกฎหมายให้ถูกต้องยุติธรรม  เรียกว่า  "กฎหมายตราสามดวง"  เพราะประทับตราสำคัญ 3 ดวง  ได้แก่  ตราราชสีห์ของสมุหนายก  ตราคชสีห์ของสมุหพระกลาโหม  และตราบัวแก้วของกรมท่า
                              1.3)  ทรงให้ขุดคลองรอบกรุง  เช่น  คลองบางลำพูทางตะวันออก  คลองโอ่งอ่างทางใต้  ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นเหมือนเกาะที่มีแม่น้ำล้อมรอบเหมือกับกรุงศรีอยุธยา  รวมทั้งสร้างกำแพงพระนครและป้อมปราการไว้โดยรอบ  ปัจจุบันคงเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุและป้อมปราการไว้โดยรอบ  ปัจจุบันคงเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุ  และป้อมมหากาฬที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
                              1.4)  ทรงเป็นจอมทัพในการทำสงครามกับรัฐเพื่อนบ้าน  สงครามครั้งสำคัญ  คือ  สงครามเก้าทัพกับพม่า
                    
                    2.  ด้านเศรษฐกิจ
                              2.1)  ในตอนต้นรัชกาลที่ 1  เศรษฐกิจยังไม่ดีเพราะมีการทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง  การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศก็ลดลงมาก  แต่ในปลายรัชกาลบ้านเมืองปลอดภัยจากสงคราม  ทำให้ประชาชนมีเวลาประกอบอาชีพ  ส่วนการค้าขายกับจีนเพิ่มมากขึ้น  ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น  มีเงินใช้จ่ายในการทำนุบำรุงบ้านเมือง  สร้างพระนคร  สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัด  รวมทั้งสั่งซื้อและสร้างอาวุธเพื่อใช้ป้องกันพระราชอาณาเขต  ทำให้บ้านเมืองและราษฎรเกิดความมั่นคงและมั่งคั่ง
                    
                    3.  ด้านสังคมและวัฒนธรรม                              3.1)  โปรดเกล้า ฯ  ให้สร้างพระราชวังและวัดให้มีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยา  เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ราษฎรให้เสมือนอยู่ในสมัยอยุธยาเมื่อครั้งบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง  เช่น  โปรดเกล้า ฯ  ให้ลอกแบบพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทขึ้นมาใหม่  และพระราชทานนามว่า  "พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท"  รวมทั้งโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วไว้ในเขตพระบรมมหาราชวังเพื่อใช้ในการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยอยุธยา
                              3.2)  ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  ด้วยการออกแบบกฎหมายคณะสงฆ์เพื่อให้พระสงฆ์อยู่ในพระธรรมวินัย  โปรดเกล้า ฯ ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฏกให้มีความถูกต้องสมบูรณ์  โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ  เช่น  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)  วัดสุทัศนเทพวราราม  วัดสระเกศ  วัดระฆังโฆสิตาราม  วัดสุวรรณดารารามตลอดจนบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปที่ถูกทิ้งร้างตามหัวเมืองต่าง ๆ แล้วนำมาประดิษฐานไว้ตามวัดวาอารามที่สร้างขึ้นใหม่  เช่น  อัญเชิญพระศรีศากยมุนี  จากวิหารหลวงวัดมหาธาตุ  จังหวัดสุโขทัย  มาประดิษฐานที่วัดสุทัศนเทพวราราม  เป็นต้น
                              3.3)  ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีและประเพณีสำคัญสมัยอยุธยา  เช่น  จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีสมโภชพระนคร  แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของการกอบกู้ราชธานีขึ้นมาใหม่  เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับราษฎรและเป็นการรักษาพระราชพิธีโบราณ
                              3.4)  ทรงส่งเสริมงานวรรณกรรม  โดยพระราชนิพนธ์วรรณคดีหลายเรื่อง  เช่น  รามเกียรติ์  เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง  โปรดเกล้า ฯ ให้แปลหนังสือจีนเป็นภาษาไทย  เช่น  สามก๊ก  ราชาธิราช  แปลโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน)  ซึ่งวรรณคดีเหล่านี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก : 
ศิริพร ดาบเพชร  คมคาย มากบัว และประจักษ์ แป๊ะสกุล.ประวัติศาสตร์ไทย ม.4-ม.6. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงศ์เชษมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย 
       (24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ครองราชย์ 7 กันยายนพ.ศ. 2352 - 21 กรกฎาคมพ.ศ. 2367พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 2 ในราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า ฉิม (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสวยราชสมบัติ เมื่อปีมะเส็ง ปีพ.ศ. 2352 - 2367 ขณะมีพระชนมายุได้ 42 พรรษา
พระราชสมภพ  เมื่อ วันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เวลาเช้า 5 ยาม ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 
พ.ศ. 2310 

พระนามเต็ม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระนามเต็มเมื่อขึ้นครองราชย์ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ซึ่งเหมือนกับพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทุกตัวอักษร เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีธรรมเนียม ที่จะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกันในแต่ละพระองค์
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ออกพระนามรัชกาลที่ 2 ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ตามนามของพระพุทธรูปที่ทรงโปรดให้สร้างอุทิศถวาย[1] และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่เป็นพระบาทสมเด็จพระบรมราชพงศ์เชษมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ครองราชสมบัติ
มื่อถึงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชรา ขณะมีพระชนมายุได้ 73 พรรษา นับเวลาในการเสด็จครองราชย์ได้นานถึง 27 ปี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 2 ได้ย้ายมาทำพิธีที่หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เนื่องจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทซึ่งสร้างขึ้นแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทอันเป็นสถานที่ทำพิธีปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอยู่ ในรัชกาลต่อ ๆ มาจึงใช้หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นสถานที่จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสถานที่ตั้งพระบรมศพ หลังจากเสร็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์จึงเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราตามโบราณราชประเพณี
พระราชกรณียกิจ                 
  ด้านการเมืองการปกครอง  
         ทรงตรากฎหมายห้ามสูบซื้อขายฝิ่นใน พ.ศ. 2354  และ พ.ศ. 2362  โดยกำหนดบทลงโทษแก่ผู้สูบฝิ่นไว้อย่างหนัก
        ทรงปรับปรุงกฎหมายพระราชกำหนดสักเลกเมื่อ พ.ศ. 2353  เพื่อเรียกเกณฑ์ไพร่พลเข้ารับราชการ  โดยลดเวลาให้ไพร่มารับราชการเพียง 3 เดือน  ทำให้ไพร่มีเวลาทำมาหากินส่วนตัวมากขึ้น
              
 ด้านสังคมและวัฒนธรรม        โปรดเกล้า ฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งด้วยการสถาปนาโบสถ์และวิหารใหม่  เสริมพระปรางค์องค์เดิมให้ใหญ่ขึ้น  และพระราชทานนามใหม่ว่า  "วัดอรุณราชวราราม"  ทรงให้แปลบทสวดมนต์จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย  เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจคำสอนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
       ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2360  ตามที่เคยปฏิบัติกันมาในสมัยสุโขทัย
                   
 ด้านศิลปกรรมและวรรณกรรม
      ทรงปรับปรุงท่ารำต่าง ๆ ทั้งโขนและละคร  ซึ่งกลายเป็นต้นแบบมาถึงปัจจุบัน  ทรงประพันธ์เพลง  "บุหลันลอยเลื่อน"  หรือ  "บุหลันลอยฟ้า"
      ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมมากมาย  เช่น  ขุนช้าง  ขุนแผน  คาวี  สังข์ทอง  ไกรทอง  อิเหน  ทรงแกะสลักบานประตูวิหารพระศรีศากยมุนี  ที่วัดสุทัศนเทพวราราม  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  พระนคร
 เสด็จสวรรคต
       พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรด้วยโรคพิษไข้ ทรงไม่รู้สึกพระองค์เป็นเวลา 8 วัน พระอาการประชวรก็ได้ทรุดลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริรวมพระชนมพรรษาได้ 57 พรรษา และครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชประวัติ
        พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า ทับ” ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม (ต่อมาทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์เป็น กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2330 เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระยศเป็น “หม่อมเจ้าด้วยเวลานั้นพระราชบิดายังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้าต่างกรม และพระราชมารดาเป็นเพียงสามัญชน จนเมื่อสมเด็จพระราชบิดาได้รับการสถาปนาเป็นที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว พระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา จึงได้เลื่อนพระยศขึ้นเป็น พระองค์เจ้า” ทุกพระองค์  ต่อมาในปีพุทธศักราช 2356ภายหลังจากที่พระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระองค์เจ้าทับ ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
         
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

พระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงเสริมสร้างกำลังป้องกันราชอาณาจักร โปรดให้สร้างป้อมปราการตามปากแม่น้ำสำคัญ และหัวเมืองชายทะเล

การคมนาคม

       ใน รัชสมัยของพระองค์ใช้ทางน้ำเป็นสำคัญ ทั้งในการสงครามและการค้าขาย คลองจึงมีความสำคัญมากในการย่นระยะทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง จึงโปรดฯให้มีการขุดคลองขึ้น เช่น คลองบางขุนเทียน คลองบางขนาก และ คลองหมาหอน 

การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

         พระองค์ทรง เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปมากมายเช่น พระประธานในอุโบสถวัดสุทัศน์ วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดปรินายกและวัดนางนอง ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น 3 วัด คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเทพธิดารามและวัดราชนัดดาราม ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดเก่าอีก 35 วัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งสร้างมาแต่รัชกาลที่ 1 วัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสาราม เป็นต้น

การศึกษา

          ทรงทำนุบำรุง และ สนับสนุนการศึกษา โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท แต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นเล่มหนึ่งคือ หนังสือจินดามณ โปรดเกล้าฯ ให้ผู้รู้นำตำราต่างๆ มาจารึกลงในศิลาตามศาลารอบพุทธาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปั้นตึ้งไว้ตามเขามอและเขียนไว้ตามฝาผนังต่างๆ มีทั้งอักษรศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ พุทธศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ เพื่อเป็นการเผยแพร่วิชาการสาขาต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของกรุงสยาม

ด้านความเป็นอยู่

         พระองค์ ทรงเอาพระทัยใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎร ด้วยมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ไม่ทรงสามารถจะบำบัดทุกข์ให้ราษฎรได้ หากไม่เสด็จออกนอกพระราชวัง เพราะราษฎรจะร้องถวายฏกาได้ต่อเมื่อพระคลังเวลาเสด็จออกนอกพระราชวังเท่า นั้น จึงโปรดให้นำกลองวินิจฉัยเภรีออกตั้ง ณ ทิมดาบกรมวัง ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อราษฎรผู้มีทุกข์จะได้ตีกลองร้องถวายฏีกาไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้มีการชำระความกันต่อไป โดยพระองค์จะคอยซักถามอยู่เนื่องๆ ทำให้ตุลาการ ผู้ทำการพิพากษาไม่อาจพลิกแพลงคดีเป็นอื่นได้ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีศาสนาจารย์และนายแพทย์ชาวอเมริกันและอังกฤษเดินทาง เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในจำนวนนี้คือศาสนาจารย์ แดน บีช บรัดเลย์ เอ็ม.ดี. หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามของ หมอบรัดเลย ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ และการฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคและการทำผ่าตัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงรัตน โกสินทร์ นอกจากนี้หมอบรัดเลย์ยังได้คิดตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้น (ปี พ.ศ. 2379) ทำให้มีการพิมพ์หนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรกโดยพิมพ์คำสอนศาสนาคริสต์เป็น ภาษาไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2339 ต่อมาปี พ.ศ. 2385 หมอบรัดเลย์พิมพ์ปฏิทินภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในด้านการหนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 หมอบรัดเลยได้ออกหนังสือพิมพ์แถลงข่าวรายปักษ์เป็นภาษาไทย ชื่อ บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) มีเรื่องสารคด ข่าวราชการ ข่าวการค้า ข่าวเบ็ดเตล็ด ฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 หนังสือบทกลอนเล่มแรกที่พิมพ์ขายและผู้เขียนได้รับค่าลิขสิทธิ์คือ นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิสรางกูร) โดย หมอบรัดเลย์ ซื้อกรรมสิทธิ์ไปพิมพ์ในราคา 400 บาท เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2404 และตีพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
          พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  (พ.ศ. 2351 - 2414)  มีพระนามเดิมว่า  "พระองค์เจ้านวม"  ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาปรางใหญ่  และเป็นต้นราชสกุลสนิทวงศ์  ทรงมีความรู้ทาง
ด้านการแพทย์แผนไทย  ทรงกำกับกรมหมอและทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการต่างประเทศและการศึกษา
          ในวาระแห่งวันคล้ายวันประสูติครบ 200 ปีของพระองค์  องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO)  ได้ประกาศยกย่องให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกในสาขา
ปราชญ์และกวี  (Scholar and Poet)  ประจำปี พ.ศ. 2551 - 2552  และเป็นบุคคลที่มีผลงานด้านการศึกษาและวรรณกรรม  การแพทย์และการสาธารณสุข  และการต่างประเทศ
          พระราชกรณียกิจสำคัญที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้
                    1.  ด้านการเมืองการปกครอง  
                              พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมตะวันตกและชาวตะวันตกเป็นอย่างดี  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายไทยร่วมกับกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคในการเจรจาทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตก  ที่สำคัญได้แก่  สนธิสัญญาเบาว์ริง  ทรงดำเนินนโยบายทางการทูตด้วยความประนีประนอมและผ่อนปรน  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดำเนินไปด้วยดี
                    
                    2.  ด้านการแพทย์
                              พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงนิพนธ์  "ตำราสรรพคุณยาของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท  เล่ม 1 และเล่ม 2"  นับเป็นตำราสมุนไพรไทยเล่มแรกของไทยที่มีการจำแนกสรรพคุณของสมุนไพรตามแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ตะวันตก  ทรงเรียนรู้ในวิชาการแพทย์แผนตะวันตก  ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับการถวายประกาศนียบัตรและทรงได้รับการทูลเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก  ประเทศสหรัฐอเมริกา
                    
                    3.  ด้านวรรณกรรม                              พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงมีพระปรีชาสามารถในการประพันธ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน พระนิพนธ์มีหลากหลายรูปแบบทั้งสาระและการบันเทิง  เช่น  หนังสือแบบเรียนจินดามณี  เล่ม 2  และงานตรวจสอบชำระเรื่องพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  เรื่องนิราศพระประธม  เพลงยาวสามชาย  ตำราเพลงยาวกลบท  สิงโตาเล่นหาง  โคลงภาพฤาษีดัดตน  เป็นต้น

หมอบรัดเลย์ 
           หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley, M.D.) หรือบางคนเขียนเป็น หมอบรัดเลหมอปลัดเล หมอปรัดเล หรือ หมอปรัดเลย์ เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 3 และยังเป็นผู้เริ่มต้นการพิมพ์อักษรไทยในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และทำการผ่าตัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
แดน บีช บรัดเลย์ เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) เกิดเมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2347 บุตรคนที่ห้าของนายแดน บรัดเลย์และนางยูนิช บีช บรัดเลย์ สำเร็จการแพทย์จาก มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สมรสกับภรรยาคนแรก เอมิลี รอยส์ บรัดเลย์ และภรรยาคนที่สอง ซาราห์ แบลคลี บรัดเลย์ 
          คนไทยกับคนอเมริกันได้พบเห็นหน้าอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ในครั้งนั้นประธานาธิบดีแย็กสัน (Andrew Jackson) ได้แต่งตั้งให้เอมินราบัดหรือ เอดมันด์ รอเบิต (Edmond Roberts) เป็นทูตขี่เรือกำปั่นเข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ (ภายหลังประเทศอังกฤษ) และต่อจากนั้น ๓ ปี หมอบรัดเลย์ก็นั่งเรือใบเข้ามา
     
       ผลงานสำคัญ
ในด้านการแพทย์ 

           -   เป็นผู้เริ่มต้นการแพทย์ตะวันตกในเมืองไทย 

ในเรื่องของการผ่าตัด ผ่าตัดเนื้องอกที่หน้าผากของชาวบ้านคนหนึ่ง 

           :  ตัดแขนคนไข้ที่บาดเจ็บ จากเหตุการณ์ปืนใหญ่ระเบิด
          -   รักษาโรคต้อกระจก และที่สำคัญที่สุด คือ
          -   การปลูกฝึ ป้องกันไข้ทรพิษ 
ในด้านการพิมพ์ 
หมอบรัดเลย์กระทำมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากเรียบเรียงคัมภีร์ครรภ์ทรักษา 
          -   ให้ความรู้เรื่องการคลอด และ รณรงค์ให้เลิกอยู่ไฟ
          -    ๑๐ ปีแรกพิมพ์หนังสือเผยแพร่ศาสนา เป็นหนังสือเล่มแรกที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เขียนเมื่อปี ค.๑๘๓๗ 

              เขียนเกี่ยวกับการสร้างโลกของพระเยซู


หมอบรัดเลย์กลับไปที่อเมริกานานถึง ๒ ปี และกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ครั้งนี้จึงทำธุรกิจโรงพิมพ์

(คณะ American Missionary Association A.M.A. )พิมพ์หนังสือ วรรณคดี ตัวอย่างเช่น

      -   สามก๊ก
-   นิราษเมืองลอนดอน
-   แบบเรียนจินดามณี
-   หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย คือ บางกอกรีคอเดอร์

สรุปผลงานที่ถูกจัดพิมพ์และจำหน่ายของหมอบรัดเลย์

      -    ตำราปลูกฝีโคหรือปลูกฝีดาษ เป็นหนังสือเล่มแรกที่เกี่ยวกับการแพทย์สมัยใหม่
-    คัมภีร์ครรภ์ทรักษา เป็นผลงานเกี่ยวกับการแพทย์เล่มที่สอง
-    หนังสืออักขราภิธานศรับท์ หนังสือเล่มนี้หมอบรัดเลย์ไม่ได้เป็นคนทำ แต่เป็นคนคิดให้ผู้ทำและจัดพิมพ์
-    นิราศเมืองลอนดอน เป็นหนังสือบทกลอนขนาดยาวเรื่องแรกที่หมอบรัดเลย์จัดพิมพ์จำหน่าย
         เป็นการบุกเบิกด้านวรรณกรรมให้แพร่หลายมากขึ้น และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นครั้งแรกที่มีการซื้อขายลิขสิทธิ์วรรณกรรมไทย
-     สามก๊ก เป็นพงศาวดารจีนเรื่องแรกที่หมอบรัดเลย์พิมพ์จำหน่าย
-     พงศารดารฝรั่งเศส เป็นผลงานที่หมอบรัดเลย์แปลที่ถือว่ายาวที่สุด ทั้งที่ยังไม่จบ
-    ประถม ก กา แจกลูกอักษร แลจินดามนี กับ ประถมมาลา และประถมทานุกรม
-     หนังสือระยะทางเมืองลอนดอน
-    ตำราโหร
-     เรื่องพิชัยสงครามพม่า
-     หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงเก่า
-     กฎหมาย ๒ เล่ม
-       ราชาธิราช

ภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมไทยสมัยอยุธยาและธนบุรี

          ภูมิปัญญา หมายถึง ความรู้ ความชำนาญ ความเชื่อ และพฤติกรรมของคนไทยในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาไทย เหล่านี้คนไทยในสมัยก่อนได้สร้างสรรค์ และสั่งสมประสบการณ์ที่มีมายาวนาน  สืบทอดมาถึงคนไทยในปัจจุบันนี้ด้วย
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยา มีดังนี้ 
1. ลักษณะทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม บริเวณที่เป็นที่ตั้งศูนย์กลาง ของอาณาจักรอยุธยาคือกรุงศรีอยุธยา และบรรดาหัวเมืองชั้นในที่อยู่โดยรอบปริมณฑล สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูกและทำการค้ากับต่างชาติ ทำให้การดำเนินชีวิตเกี่ยวพัน กับเรื่องการทำมาหากินและการค้าขาย นอกจากนี้การมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ในอาณาจักรก็ช่วยสร้างสรรค์ภูมิปัญญาทางด้านศิลปกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับไม้ เป็นต้น
2. ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรม อาณาจักรอยุธยามีการปกครองแบบสังคมศักดินา ประกอบด้วยคนชั้นมูลนายและไพร่ มีสถาบัน พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจและการปกครอง ราษฎรนับถือพระพุทธศาสนา ผสมผสานกับคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ดังนั้นการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาจึงเกี่ยวกับ การรู้จักควบคุมกำลังคนให้เป็นระเบียบ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมโดยใช้กุศโลบายทางศาสนาเป็นเครื่องมืออบรบสั่งสอนผู้คน
3. การรับอิทธิพลจากภายนอก อาณาจักรอยุธยามีการติดต่อค้าขาย กับชาวต่างชาติทั้งในทวีปเอเชีย และยุโรป ทำให้สามารถนำเอาภูมิปัญญาบางอย่าง ของชาติเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับ ชาวอยุธยาจนกลายเป็นภูมิปัญญาไทย เช่น ทางด้านนาฏศิลป์ ดนตรี ศิลปกรรม วรรณกรรม อาหารการกิน และการแต่งกาย เป็นต้น
การสร้างสรรค์ภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยา
การสร้างภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยานั้นมี อยู่มากมายหลายชนิดที่ทำให้คนไทย สมัยอยุธยาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อม ที่มีความหลากหลาย ซึ่งภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยาเน้นให้เห็นถึงความสามารถ และสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาสำหรับการดำรงชีวิต ของคนไทยสมัยนั้น ภูมิปัญญาไทย เหล่านั้นมีทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรม และสิ่งที่เป็นรูปธรรม และมีมากมายหลายประเภท เช่น ด้านการเมือง การปกครอง ด้านภาษาและวรรณกรรม และด้านศิลปกรรม เป็นต้น ในพัฒนาการทางด้านต่างๆ ก็มีภูมิปัญญาแฝงอยู่ด้วย เช่น
1. ภูมิปัญญาที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นคติความเชื่อของข้อห้าม ข้อปฏิบัติในวิถีชีวิตของผู้คน เช่น
ก) ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งปรากฏในวรรณกรรม เรื่องลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย
ขุนช้างขุนแผน และตำราพิชัยสงคราม เช่นฤกษ์ยาม เวทมนตร์คาถา เครื่องรางของขลัง
ข) ความเชื่ออันเนื่องมาจากศาสนา เช่น เรื่องบุญ-กรรม การประพฤติในศีลในธรรม การทำบุญกุศลเพื่อการเกิดใหม่ที่ดีในภพหน้า เป็นต้น
 2. ภูมิปัญญาในด้านการเมืองการปกครองในสมัยอยุธยา คือ
ก) การสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นศูนย์รวมของคนไทย ให้มีความเข้มแข็ง และมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพของราษฎร  เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงนำลัทธิเทวราชาเอาจากเขมรมาดัดแปลงกับสังคมไทย  ทำให้สถานะ ของพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือน เป็นสมมติเทพ ขณะเดียวกันพระมหากษัตริย์ก็ยังทรง เป็นธรรมราชา ตามแบบอย่างสุโขทัย
ข) การควบคุมกำลังคนสำหรับป้องกันราชอาณาจักร และสำหรับราชการแผ่นดิน การที่อาณาจักรมีอาณาเขตกว้างขวางมาก และมีผู้คนจำนวนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีศึกสงครามกับอาณาจักร ใกล้เคียงกำลังไพร่พลจึงมีความสำคัญต่ออาณาจักรอยุธยา การจัดระบบไพร่ในสมัยอยุธยาจึงเป็นภูมิปัญญาไทย ที่สำคัญคือชายฉกรรจ์ทุกคนที่เรียกว่า "ไพร่" ต้องสังกัดมูลนาย มิฉะนั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เมื่อลงทะเบียนสักเลกสังกัดมูลนายแล้ว ต้องมีการกำหนดระยะเวลา ในการใช้แรงงานของชายฉกรรจ์เหล่านี้ทั้งในยามสงบ และในยามสงครามที่เรียกว่า "การเข้าเวร" โดยมีกำหนดเวลาปีละ 6 เดือน คือใช้แรงงานให้กับหลวง 1 เดือน  และออกเวรมาอยู่กับครอบครัว 1 เดือนสลับกันไป การจัดระบบไพร่ทำให้ทางราชการ ทราบจำนวนของไพร่พลผ่านทางมูลนาย  และสามารถเกณฑ์ผู้คนที่เป็นไพร่พลเหล่านี้ได้ 

ภาพลักษณะของไพร่ในสมัยอยุธยา
3. ภูมิปัญญาด้านศิลปกรรม ส่วนใหญ่เนื่องมาจากพระพุทธศาสนาของผู้คนในอาณาจักร ซึ่งแบ่งเป็นด้านต่างๆ คือ
 ก) ประติมากรรมเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูป แบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะที่ 1 นิยมสร้าง พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองที่ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย ปางมารวิชัยและสมาธิ ประดิษฐานไว้กลางแจ้งเช่นที่วัดมงคลบพิตร วัดพนัญเชิง และวัดธรรมิกราช ลักษณะของพระพุทธรูปแบบอู่ทอง คือ มีไรพระศกและชายจีวรปลายตัดเป็นเส้นตรง ระยะที่ 2 นิยมสร้างพระพุทธรูปประทับยืน ทรงเครื่อง เช่นที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ และระยะที่ 3

ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง นิยมสร้างปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช นิยมสลักพระพุทธรูปด้วยศิลา  เชื่อกันว่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไทยปราบเขมรได้จึงนิยมใช้หิน (ศิลา) สลักพระพุทธรูปตามอย่างเขมรอยู่ระยะหนึ่ง ลักษณะเฉพาะคือมีพระเนตร  และพระโอษฐ์เป็นขอบสองชั้น หรือมีพระมัสสุบางๆ อยู่เหนือพระโอษฐ์ พระพุทธรูปทรงเครื่องมี 2 แบบ คือ แบบทรงเครื่องใหญ่ และแบบทรงเครื่องน้อย เป็นลักษณะแบบอยุธยาอย่างแท้จริง

ภาพพระพุทธรูปสมัยอยุธยา
ข) สถาปัตยกรรม ระยะแรกนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธาน
จนถึงแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ นิยมสร้างแบบศิลปะลพบุรีหรืออู่ทองเป็นพระปรางค์ เช่น พระปรางค์ที่วัดพุทไธศวรรย์ วัดพระราม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดราชบูรณะ ระยะที่ 2 เมื่อสมเด็จพระบรมไตร-โลกนาถ เสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลกจึงได้รับแบบอย่างสถาปัตยกรรม ศิลปะสุโขทัยเข้ามาด้วย โดยมักสร้างพระสถูปอันเป็นหลักของพระอาราม เป็นเจดีย์แบบทรงลังกา มากกว่าการสร้างพระปรางค์ เช่น เจดีย์ใหญ่ 3 องค์ ในวัดพระศรีสรรเพชญ พระเจดีย์ใหญ่วัดชัยมงคล ระยะที่ 3
ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทรงนิยมถ่ายแบบอย่างพระปรางค์ และสถาปัตยกรรมของขอมมาสร้างในอยุธยา เช่น ที่วัดไชยวัฒนาราม และนิยมสร้างพระเจดีย์เหลี่ยมหรือเจดีย์ย่อมุม ไม้สิบสองขึ้นด้วย องค์ที่งดงามมากคือที่วัดชุมพลนิกายาราม และในสมัยพระนารายณ์มหาราช มีชาวฝรั่งเศสเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา จึงมีการสร้างตำหนักและอาคาร 2 ชั้นที่ก่อด้วยอิฐ ซึ่งมีความมั่นคงและถาวรมากขึ้น ต่างจากเดิมที่ใช้อิฐ หรือศิลาเฉพาะการสร้างศาสนสถานเท่านั้น ระยะที่ 4 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจนถึงเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 การสร้างเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองยังเป็นที่นิยมกัน เช่น เจดีย์วัดภูเขาทอง โบสถ์วิหารสมัยอยุธยาตอนปลาย มักทำฐานและหลังคาเป็นเส้นอ่อนโค้ง มักใช้เสากลมก่ออิฐสอปูน ตรงหัวเสาจะมีบัวทำเป็นบัวตูม เป็นต้น

ค) จิตรกรรม จิตรกรรมในสมัยอยุธยา ส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ในระยะแรกได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบลพบุรี สุโขทัยและลังกา โดยมีบางภาพที่มีลักษณะแข็งและหนัก ใช้สีดำ ขาว เหลือง และแดง มีการปิดทองบนภาพบ้างเล็กน้อยเช่นภาพเขียนบนผนังในกรุพระปรางค์วัด ราชบูรณะ ระยะต่อมามักเป็นภาพวาดเกี่ยวกับเรื่องไตรภูมิมีภาพพุทธประวัติประกอบนิยม ใช้สีเบญจรงค์บนพื้นขาวหรือสีอ่อน ในสมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราช จนสิ้นสุดสมัยอยุธยาจิตรกรรมอยุธยา แสดงให้เห็นถึงลักษณะของจิตรกรรมไทยบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ สีที่วาดนิยมใช้หลายสี นิยมปิดทองลงบนรูป และลวดลาย แต่การเขียนภาพต้นไม้ ภูเขา และน้ำ แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะจีนอยู่บ้าง 

ภาพงานจิตรกรรมที่ใช้สีเบญจรงค์

ง) ประณีตศิลป์ ศิลปะแบบอยุธยาที่พบ ได้แก่ เครื่องไม้ เช่น ประตูจำหลัก ธรรมาสน์ ตู้หนังสือพระไตรปิฎก หีบใส่หนังสือสวดและหนังสือเทศน์ เครื่องไม้เหล่านี้ทำฐานหรือหลังคาเป็นแบบอ่อนโค้ง นอกจากนี้วัตถุที่ขุดพบในพระเจดีย์หรือพระปรางค์ต่างๆ เช่น วัตถุที่ขุดพบที่พระปรางค์วัดราชบูรณะ ส่วนงานเรื่องรัก เป็นการประดิษฐ์เกี่ยวกับเครื่องมุก ลายรดน้ำ และการประดับกระจก รวมทั้งการทำหัวโขนด้วย และงานเครื่องถมและเครื่องคร่ำพบในสมัยอยุธยาตอนปลาย เครื่องถ้วยชามนิยมใช้สี เบญจรงค์ คือ ดำ แดง ขาว เขียวหรือคราม และเหลือง เป็นลายเทพพนมหรือกนก เป็นต้น
จ) นาฏศิลป์ นับตั้งแต่สมัยพระรามาธิบดีที่ 1 จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม การแสดงแต่เดิมเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ส่วนใหญ่เป็นการฟ้อนรำในพิธีกรรมต่างๆ โดยศิลปะการแสดงเริ่ม มีแบบแผนขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากละครหลวงของเขมร โดยโปรดให้มี "การเล่นดึกดำบรรพ์" ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเขมร ภายหลังได้พัฒนามาเป็นนาฎศิลป์ไทยประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "โขน" ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา ศิลปะการแสดงที่สำคัญของไทย คือ โขน ละคร และระบำ ซึ่งใช้ผู้ชายเป็นผู้แสดง และมีการฟ้อนรำที่ผู้หญิงแสดงเป็นหมู่
ในสมัยพระเจ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์โปรดการเล่นละครมาก จึงได้มีการส่งเสริมการละครจนเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา สมัยนี้มีละคร 2 ประเภท คือ ละครใน ใช้ตัวละครเป็นหญิงทั้งหมด และละครนอกใช้ตัวละครเป็นผู้ชายทั้งหมด

ภาพศิลปะการเล่นโขน

ฉ) วรรณกรรม ในสมัยอยุธยา ได้มีการสร้างสรรค์ทาง ด้านภาษาและวรรณกรรมที่สะท้อนถึง ภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยาได้หลายลักษณะ โดยในระยะแรกเป็นแนวสดุดีและเกี่ยวกับศาสนา เช่น ลิลิตโองการแช่งน้ำใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ลิลิตยวนพ่ายเพื่อสดุดีชัยชนะของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหนือศึกล้านนา มหาชาติคำหลวง ต่อมาเป็นแนวการสั่งสอนและยอพระเกียรติ เช่น กาพย์มหาชาติ ส่วนตอนปลายนิยมแต่งเป็นกาพย์เห่เรือ กาพย์ห่อโคลง โดยเป็นแนวศาสนา บันทึกเหตุการณ์และความรัก วรรณกรรมสำคัญเช่น พระมาลัยคำหลวง ตัวอย่างวรรณกรรมด้านวิชาการ เช่น หนังสือจินดามณี และด้านศาสนาและคำสอน เช่น พระมาลัยคำหลวง
หนังสือจินดามณีแต่งโดยพระโหราธิบดี เป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าทั้งทางด้านภาษา และด้านการเมือง แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นแบบเรียนตำราเรียนเล่มแรกของไทย ที่กล่าวถึงอักขรวิธีว่าด้วยพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ของไทย เป็นแบบฝึกหัดอ่านและฝึกหัดเขียนภาษาไทยให้แตกฉาน รวมทั้งมีการอธิบายการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนประกอบตัวอย่างด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวเมือง อ่านออกเขียนได้ ไม่ไปเข้ารีตตามแบบฝรั่ง เป็นภูมิปัญญาไทยทางด้านภาษา และวรรณกรรมสำหรับใช้ต่อต้านการแทรกแซงทาง วัฒนธรรมของชาติตะวันตก
พระมาลัยคำหลวงเป็นวรรณกรรม ที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ทรงนิพนธ์ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เนื้อหากล่าวถึงพระมาลัยเสด็จขึ้นมา จากการโปรดสัตว์ในแดนนรก พบกับชายผู้หนึ่งซึ่งถวายดอกบัว 3 ดอกให้ พระมาลัยจึงนำดอกบัว นั้นไปถวายพระจุฬามณี และได้พบกับพระอินทร์จึงสนทนากันถึง เรื่องการทำความดี และผลของการกระทำความดีต่างๆ หลังจากนั้นพระมาลัยจึงนำเนื้อความเหล่านั้น กลับมาเทศนาโปรดมนุษยโลก นับเป็นกรอบ หรือแบบแผนในการดำเนินชีวิตตามคติพระพุทธศาสนา ของชาวอยุธยา เป็นการปลูกฝังคนไทยให้เป็นคนดี สร้างกุศลกรรม ละเว้นอกุศลกรรม รู้จักเรื่องบาป บุญ นรก สวรรค์ การทำบุญ และการได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์ เป็นวิธีการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในจิตใจ
หนังสือมหาคำหลวง
วีรกรรมของบรรพบุรุษในสมัยอยุธยา
ในอาณาจักรมีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ที่ทรง ทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง  จัดการปกครองให้เป็นระบบ และสามารถป้องกันราชอาณาจักรได้ตลอดระยะเวลายาวนาน อาจกล่าวได้ว่าอาณาจักรอยุธยา มีวีรบุรุษและวีรสตรีหลายพระองค์ที่สร้างสรรค์ชาติไทย ให้สืบต่อมาจนปัจจุบัน
1. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงพระนามเดิมว่า พระเชษฐาธิราช ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบรมไตรโลกนาถ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา เมื่อสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระองค์ได้ถวายราชสมบัติแก่พระบรมราชาธิราชที่3 ผู้ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา ซึ่งครองอาณาจักรอยุธยาอยู่ก่อนแล้ว เ นื่องจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปประทับ ที่เมืองพิษณุโลกอยู่ในฐานะพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เสด็จสวรรคต พระองค์จึงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงจัดให้มีการจัดระเบียบกองทัพ และแต่งตำราพิชัยสงคราม ทรงโปรดให้จัดทำสารบัญชีกำลังพล (การสำรวจสำมะโนครัวแล้วจดบันทึก ไว้เป็นหลักฐานว่าเมืองใดมีชายฉกรรจ์จำนวนเท่าใด โดยตั้งกรมพระสุรัสวดีหรือกรมสัสดีขึ้นทำหน้าที่รวบรวมบัญชีกำลังคน) เพื่อเกณฑ์พลเมืองเข้ารับราชการ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โดยกำหนดให้ไพร่ที่เป็นชายอายุตั้งแต่ 18-60 ปีต้องเข้ารับราชการทหาร ยกเว้นผู้ที่มีบุตรชายแล้วเข้ารับราชการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ผู้เป็นบิดาจึงพ้นหน้าที่รับราชการทหาร ชายที่มีอายุ 18 ปี ต้องขึ้นทะเบียนทหาร เพื่อเข้ารับการฝึกหัดทหาร เรียกว่า ไพร่สม เมื่ออายุ 20 ปี จึงเรียกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการเรียกว่า ไพร่หลวง ส่วนพวกที่ไม่สามารถมารับราชการทหาร ได้ ต้องมีของมาให้ราชการเป็นการชดเชยเรียกว่า ไพร่ส่วย ได้มีการตั้งกรมพระสุรัสวดีให้เป็นหน่วยรับผิดชอบ
ในด้านการทำสงคราม เมื่อพระเมืองแก้วเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกทัพ มาตีกรุงสุโขทัย พระองค์ ได้ทรงออกทัพขึ้นไปช่วยโจมตีจนกองทัพ เชียงใหม่แตกกลับไป ต่อมาได้ทรงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองลำปางได้ เมื่อเสร็จยกทัพกลับอยุธยาพระองค์ได้ทรงสถาปนาพระอาทิตย์วงศ์พระราชโอรส ให้เป็นพระบรมราชา ตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธางกูรรัชทายาท และโปรดให้ปกครองหัวเมืองเหนือ ประทับอยู่ที่พิษณุโลก ทำให้ราชอาณาจักรล้านนาไม่มารบกวนเมืองเหนือ อีกตลอดสมัยของพระองค์
นอกจากนั้นได้ส่งกองทัพทั้งทางบก และทางเรือไปทำสงครามกับมะละกาถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้มะละกาได้ตระหนักถึง อำนาจของอยุธยาที่มีอิทธิพลเหนือหัวเมืองในคาบสมุทรภาคใต้ โดยมีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลาง ในการควบคุมหัวเมืองต่างๆ ในคาบสมุทร ทำให้กษัตริย์มะละกาผู้ปกครองปัตตานี ปาหัง กลันตัน และเมืองท่าที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทั้งหมด ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการทุกปี
ในปี พ.ศ. 2054 อัลฟองโซ เดอร์ก แม่ทัพใหญ่ของโปรตุเกส ได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และการค้า พระองค์ทรงตอบรับไมตรีจากโปรตุเกส และได้ทำสัญญาทางราชไมตร ีและทางการค้าต่อกัน นับเป็นสัญญาฉบับแรก ที่ไทยทำกับต่างประเทศ ชาวโปรตุเกสได้นำเอาอาวุธแบบใหม่มาถวาย ได้แก่ ปืนประเภทต่างๆ และกระสุนดินดำ และเป็นทหารอาสาได้ช่วยฝึกวิธีการ ใช้อาวุธแบบตะวันตก
ในการพิจารณาคดีความ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงปรับปรุงระเบียบการศาลกันใหม่ คือ อำนาจการตัดสินลงโทษผู้ทำผิดให้ขุนนางไทยเป็นผู้ตัดสินเด็ดขาดพราหมณ์ เป็นเพียงที่ปรึกษา ตรวจสำนวนแต่ไม่มีอำนาจบังคับ และอนุญาตให้ผู้มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไปแต่งทนายให้การแทนตนได้ ถ้าต่ำกว่า 400 ไร่ ต้องไปให้การในศาลเอง ประเภทของศาลมี 4 ประเภทคือ ศาลความอาญา ศาลความแพ่ง ศาลนครบาล และศาลหัวเมือง
ในด้านพระพุทธศาสนาทรงสร้างวัดหลายแห่ง และทรงหล่อพระพุทธรูป พระศรีสรรเพชญ์หุ้มด้วยทองคำ กง นอกจากนี้ทรงโปรดให้ขุดคลองขึ้นเป็นครั้งแรก ในคลอกสำโรงกับคลองทัพ นางในเมืองพระประแดง เพื่อสะดวกแก่การคมนาคม และการเดินเรือระหว่างลำแม่น้ำเจ้าพระยา กับคลองบางปะพระองค์ทรงครองราชย์รวม 38 ปี
2. สมเด็จพระสุริโยทัย พระราชประวัติสมเด็จพระสุริโยทัย ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ และมีความเสียสละสันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อ พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กษัตริย์พม่ายกกองทัพ เข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกในครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือ ถึงวีรกรรมของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยซึ่งไสช้างพระที่นั่ง เข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟัน พระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนาง และสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ขนานนามว่าวัดสบสวรรค์หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรี เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก พระองค์มีพระเชษฐภคินีคือ พระสุพรรณเทวีหรือพระสุพรรณกัลยา และพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ
หลังจากเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ 1 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุง ศรีอยุธยา เขมรเห็นเป็นโอกาสที่ไทยอ่อนแอ จึงได้ยกทัพมาปล้น และกวาดต้อนผู้คนบริเวณชายพระนคร สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงได้ขอตัวสมเด็จพระนเรศวร จากหงสาวดีกลับมาช่วยป้องกันบ้านเมือง เมื่อพระชนมายุได้ 15 พรรษา หลังจากเสด็จไปประทับที่หงสาวดีตั้งแต่พระชนมายุได้ 9 พรรษา
สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดให้สมเด็จพระนเรศวร เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2114 ตลอดสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวร ทรงเป็นกำลังสำคัญในการป้องกัน และกอบกู้บ้านเมืองจากข้าศึกทั้งเขมรและพม่า ในปี พ.ศ. 2127 พระองค์ได้ทรงประกาศอิสรภาพหลังจากที่ตกอยู่ในอำนาจพม่าเป็นเวลา 15 ปี เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต พระองค์ได้เสด็จ ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวรหรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 และโปรดให้พระเอกาทศรถขึ้นเป็นพระมหาอุปราช
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรง กอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า และได้ทำสงครามทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใด ในอดีตที่ผ่านมา งานสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งในดินแดนไทย และดินแดนข้าศึกได้ชัยชนะทุกครั้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่ มาใช้ในการทำสงคราม และเปลี่ยนแนวความคิดจาก การตั้งรับมาเป็นการรุกและริเริ่มการใช้วิธีรบนอกแบบ
การสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพ มารุกรานไทยเป็นเวลาเกือบ 200 ปี คือสงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ. 2135 หลังจากนั้นพระองค์ทรงรุก เข้าไปในดินแดนของข้าศึก เริ่มจากการตีเมืองทวายและตะนาวศรีคืนกลับมาจากพม่า การไปตีเมืองเขมรในเวลาต่อมา ยึดเมืองละแวกของเขมรได้ พระองค์ยกกองทัพไปปราบปรามมอญแล้วยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี แต่พระเจ้าตองอูได้นำเสด็จ พระเจ้าหงสาวดีหนีไปเมืองตองอูก่อนโดยทิ้งให้เมืองหงสาวดีร้างก่อนที่พระองค์จะนำทัพไปถึง
งานด้านการทหารของพระองค์มีอยู่ใน เรื่องราชการสงคราม พระองค์โปรดให้ปรับปรุงการปกครอง หัวเมืองใหม่ เป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ยกเลิกระบบเมืองพระยามหานคร จัดแบ่งหัวเมืองเป็นหัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี ยกเลิกการให้เจ้านายไปปกครองเมืองเหล่านี้ แล้วให้ขุนนางไปปกครองแทน สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง พระองค์ทรงประชวรเป็น ฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์และเสด็จสวรรคต พระชนมายุได้ 50 พรรษา ครองราชย์นาน 15 ปี

ภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระเชษฐา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าไชย มีพระอนุชาคือเจ้าฟ้าอภัยทศ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง และพระอินทราชา
พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2199 เมื่อพระชนมายุได้ 25 พรรษา พระองค์ทรง เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระ ปรีชาสามารถมาก ทำให้กรุงศรีอยุธยา มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ การต่างประเทศ การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม วรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่องเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวรรณคดี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของพระองค์มีชาวตะวันตก เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย เผยแพร่ศาสนาตลอดจนเข้ารับราชการ ทำให้ชาวตะวันตกยอมรับนับถือกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก
ในด้านการค้าขาย ได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมาก ทรงปรับปรุงกรมพระคลังสินค้า โปรดให้ต่อเรือกำปั่นหลวงเพื่อทำการค้ากับต่างประเทศ จึงทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้ากับชาวต่างประเทศ และต่อมาเมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีกได้ช่วยปรับปรุงงาน ของกรมพระคลังสินค้าอีก ทำให้การค้าขายกับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองสูงสุด สำหรับเมืองท่าในเวลานั้น ได้แก่ มะริด ตะนาวศรี ภูเก็ต ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช เพชรบุรี และบางกอก
ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ พระเจ้าหลุยส์ที่14แห่งฝรั่งเศส ได้ส่งบาทหลวงสามคนเดินทางมากรุงศรีอยุธยา เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่คริสต์ศาสนา พระบาทหลวงได้ตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นการนำความเจริญมาให้กรุงศรีอยุธยา จึงได้พระราชทานที่ดินให้สร้างวัดทางคริสต์ศาสนาด้วย
ในปี พ.ศ. 2224 พระองค์ทรงจัดคณะทูตนำพระราชสาสน์ไปเจริญทาง พระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่คณะราชทูตสูญหายไประหว่างทาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2226ได้โปรดให้จัดคณะทูตเดินทางไปฝรั่งเศสอีกครั้ง เพื่อสอบสวนความเป็นไปของทูตคณะแรก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงทราบก็เข้าใจว่าสมเด็จพระองค์ ทรงเลื่อมใสจะเข้ารีตจึงได้ จัดคณะราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี กับกรุงศรีอยุธยา โดยมี เชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ เป็นหัวหน้าคณะทูต เมื่อปี พ.ศ. 2228 ได้เข้าเฝ้าและทูลขอให้ทรงเข้ารีตแต่พระองค์ทรงปฏิเสธด้วยพระปรีชาสามารถว่า " การที่ผู้ใดจะนับถือศาสนาใดนั้น ย่อมแล้วแต่พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์จะบันดาล ให้เป็นไป ถ้าคริสต์ศาสนาเป็นศาสนาดีจริงแล้ว และเห็นว่าพระองค์สมควรที่จะเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกแล้ว สักวันหนึ่งพระองค์จะถูกดลใจให้เข้ารีตจนได้ "
พระองค์ได้ให้เสรีภาพแก่ราษฎร ทั่วไปที่จะนับถือคริสต์ศาสนาตามความเลื่อมใสของตน เมื่อคณะราชทูตฝรั่งเศสเดินทางกลับ พระองค์ก็ได้จัดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นหัวหน้าคณะราชทูตเดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อนำพระราชสาส์นของพระองค์ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และได้ส่งกุลบุตร 12 คน ไปศึกษาวิชาที่ประเทศฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงโปรดปรานเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) อย่างมาก ได้ให้เหรียญที่ระลึก และเขียนรูปภาพเหตุการณ์ไว้ด้วย เมื่อคณะราชทูตเดินทางกลับ พระองค์โปรดให้มองสิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ เป็นราชทูตเข้ามากรุงศรีอยุธยาพร้อมกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และได้นำทหารฝรั่งเศสเดินทางมาด้วย สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทหารฝรั่งเศสจำนวน 636 นาย ไปรักษาป้อมที่เมืองธนบุรีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมีกำลัง 200 นายไปรักษาเมืองมะริด ซึ่งมีอังกฤษเป็นภัยคุกคามอยู่
สมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นกวี และทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์ กวีลือนามแห่งรัชสมัย ของพระองค์ก็ได้แก่ พระโหราธิบดีหรือพระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณีและตอนหนึ่งของเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ กวีอีกผู้หนึ่งคือ ศรีปราชญ์ บุตรของพระโหราธิบดี งานชิ้นสำคัญของศรีปราชญ์ คือ หนังสือกำสรวลศรีปราชญ์และอนุรุทรคำฉันท์
พระราชกรณียกิจที่ทรงได้รับการยกย่องมาก คือ การมีความสัมพันธ์กับชาวตะวันตก ได้เปิดการค้าขายกับชาติต่างๆ เจริญสัมพันธไมตรี และยอมให้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์จนเป็นที่ยอมรับ นับถือของชาติตะวันตก ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ทางการแพทย์ สถาปัตยกรรม และการทหาร เป็นต้น พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และสร้างพระราชวังนารายราชนิเวศที่ลพบุรี รวมทั้งมีการวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย
ในรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าจะมีการค้าขายติดต่อ กับต่างประเทศที่เจริญรุ่งเรืองแล้วก็ตาม แต่ก็ได้มี การทำสงครามหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญได้แก่ การยกกองทัพออกไปตีพม่าที่กรุงอังวะ ตามแบบอย่างที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำมาแล้วในอดีต และได้มีการยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ สองครั้งจนได้ชัยชนะ
ในปี พ.ศ. 2230 สมเด็จพระนารายณ์ทรงประกาศสงครามกับอังกฤษ เนื่องจากมีเหตุจากเรื่องการค้า รัฐบาลอังกฤษเรียกตัวคนอังกฤษ ทั้งหมดที่รับราชการที่กรุงศรีอยุธยา กลับประเทศอังกฤษ ต่อมาชาวอังกฤษได้มาก่อความวุ่นวายในเมืองมะริด และรุกรานไทยแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรเนื่องจากขณะนั้นมีทหารฝรั่งเศส รักษาเมืองมะริดอยู่ นอกจากนี้ชาวฮอลันดา ได้กีดกันการเดินเรือค้าขายของไทย ครั้งหนึ่งได้ส่งเรือรบมาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขู่จะระดมยิงไทย จนไทยต้องผ่อนผันยอมทำสัญญายกประโยชน์การค้าให้ตามที่ต้องการ แต่เพื่อป้องกันมิให้ฮอลันดาข่มเหงไทยอีก พระองค์จึงทรงสร้างเมืองลพบุรีไว้เป็นเมืองหลวงสำรองอยู่เหนือขึ้นไปจากกรุงศรีอยุธยา และเตรียมสร้างป้อมปราการไว้คอยต่อต้านข้าศึก เป็นเหตุให้บาทหลวงฝรั่งเศสที่มีความรู้ทางการช่าง และต้องการเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ได้เข้ามาอาสาสมัครรับใช้ราชการ พระองค์ เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 50 พรรษา ทรงครองราชย์ 32 ปี

ภาพพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช